พี่ดวงดีเอาบทความที่น่าสนใจมาให้อ่านจ้า เกี่ยวกับการเลี้ยงผี มาอ่านกันเลย
การเลี้ยงผี
คือ การไปหาผี หรือจิตวิญญาณที่ไม่สูงนักมาเลี้ยงเพื่อช่วงใช้ ปกติ คนไทยโบราณจะเลี้ยงผีอย่างแรกคือ ผีบรรพบุรุษ เพราะหาง่าย ไม่ต้องลำบาก ญาติที่ตายไปยังห่วงเราอยู่ก็จะอยู่ให้เราเลี้ยงดูและช่วยเหลือเราต่อไป สำหรับคนที่มีอาคมมากขึ้น ก็จะไปหาผีมาเลี้ยง เช่น ผีกุมาร, ผีลูกกรอก, ผีพราย, ผีตายโหง ฯลฯ ตามแต่กำลังอาคมจะเลี้ยงได้ การเลี้ยงผี มีสองลักษณะ คือ ลักษณะที่ปล่อยตามอิสระ และลักษณะที่ผูกมัดเอาไว้ที่ใดที่หนึ่ง พวกที่ต้องผูกไว้มักดุร้าย เช่น ผีพราย พวกที่ปล่อยอิสระเพราะไม่ดุร้ายเช่น พวกผีบรรพบุรุษ สำหรับพวกที่ถูกผูกมัดไว้จะผูกมัดไว้ตลอดเวลาไม่ได้ เมื่อจะใช้งานก็จะเอาออกมา เรียกออกมาจากที่กักขังนั้น (ให้สังเกตคนเลี้ยงผีประเภทนี้ จะทำอะไรบางอย่างไว้ตามต้นไม้ใหญ่ที่เปลี่ยวๆ เช่น ป่าช้า หรือคนไม่ค่อยเข้าไปคือ เขาผูกผีไว้ที่ต้นไม้นั้น) นอกจากนี้ ยังต้องปล่อยผีออกมาเพื่อไม่ให้ผีได้รับความกดดันมากจนคุมไม่ได้ เรียกว่า “ปล่อยของ” ซึ่งมักจะตรงกับวันเสาร์ห้า นอกจากนี้ ยังมีวันอื่นๆ แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะกำหนดอีกด้วย การปล่อยของหรือปล่อยผีนี้ จะมีอยู่เป็นรอบๆ ระยะ เมื่อปล่อยออกมาทีไร ผีจะหากินเอง และทำร้ายผู้คนทำให้ผู้คนเจ็บป่วยและต้องไปหาคนรักษาให้ ซึ่งผู้ที่จะรักษาหายได้ก็มีแต่เจ้าของอย่างเดียว ดังนั้น คนรักษากับคนทำก็คือคนๆ เดียวกัน มีสุภาษิตว่า “วัวใคร เข้าคอกคนนั้น” ผีก็เหมือนกันอย่างนั้น ออกมาจากไหน ก็กลับที่เดิม
แหล่งที่มาของผี
1. ผีบรรพบุรุษเราเองที่ตายลงไปแต่ยังไม่ไปเกิดยังภพภูมิอื่น เช่น ผีปู่ย่า-ตายาย
2. ผีที่ตกทอดสืบกันมาจากปู่ย่าตายายเป็นมรดกให้เลี้ยงต่อ เช่น ผีฟ้าพญาแถน
3. ผีที่ได้จากการไปหา ไปทำมา ด้วยอาคมของผู้เรียนคุณไสย เช่น ผีพราย, กุมาร
4. ผีที่ได้จากคนใกล้ตาย เรียกว่า “ผีฝาก” หรือฝากผีฝากไข้ คนใกล้ตายจะให้ผีมา
5. ผีที่ได้จากการปลดปล่อยวิญญาณสัมภเวสีที่ตกค้างยังที่ต่างๆ ตามมาอยู่ด้วย
การเลี้ยงผีนี้ ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องระวังไม่ให้ “ผีเข้าตัวเอง” ผีทุกชนิดอยากได้ร่างมนุษย์มาก เมื่อเลี้ยงไม่ระวังมันจะเข้าตัวเอง แล้วทำให้มนุษย์ผู้นั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ถึงขั้นบ้าหรือตายได้ ตามแต่กรรมของผีที่ทำมา ทำอย่างไรมา มนุษย์ก็จะได้รับกรรมนั้นร่วมไปด้วย ยกเว้นมนุษย์ที่ปฏิบัติธรรมขั้นสูงมากๆ ไม่ต้องกลัวเลย เพราะสามารถโปรดผีให้หลุดพ้นจากกรรมและอบายภูมิชั้นต่ำได้ ผีจะกลายเป็น “เจตภูต” หรือเทวดาประจำตัวต่อไป แบบนี้ ผีที่ไม่ค่อยจะดี กลายเป็นผีที่ดี และนำบุญบารมีมาเสริมตัวผู้เลี้ยงได้ด้วย
การเลี้ยงผีของชาวล้านนา
คนล้านนามีความผูกพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการนับถือผี สามารถพบเห็นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเมืองเอง เช่น เมื่อเวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่า มักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอ และเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่า เมื่อเวลาที่ต้องถ่ายปัสสวะก็มักจะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนเมืองผูกผันอยู่กับการนับถือผี
จากประวัติศาสตร์ดั่งเดิมของคนล้านนาในอดีตมีความเชื่อในการนับถือผีมาเนินนานหลายยุคหลายสมัยแล้ว ประวัติศาสตร์ดังกล่าวยังได้กล่าวอ้างว่า ก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1839 นั้น บริเวณรอบเชิงดอยสุเทพเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองดั่งเดิมก็คือ “ลัวะ”
เมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้วจึงได้ขับไล่ชาวลัวะให้ออกจากพื้นที่ มีชาวลัวะบางส่วนต้องอพยพขึ้นเขาเข้าป่าเป็นจำนวนมาก บางส่วนที่อ่อนข้อหน่อยก็ตกเป็นทาสรับใช้ของคนเมืองไป การที่คนล้านนาเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่จึงให้เกิดวัฒนธรรมในรูปแบบผสมระหว่างวัฒนธรรมพื้นบ้านดั่งเดิมกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับการดำเนินชีวิตในสังคม แม้แต่ในปัจจุบันเองคนเมืองเชียงใหม่บางส่วนยังต้องถกเถียงกันถึงรูปแบบวัฒนธรรมอันดั่งเดิมที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหากจะว่ากันถึงความถูกต้องแล้วคงจะอาศัยเหตุผลของนักวิชาการที่ได้ศึกษาเรื่องนี้มากล่าวอ้าง แต่ในที่นี่จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของคนล้านนากับความเชื่อในเรื่องการเลี้ยงผี ซึ่งจะเป็นผีบรรพบุรุษ หรือ ผีเสื้อบ้านเสื้อเมือง เป็นต้น
คนเมืองล้านนากับการเลี้ยงผีดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก เพราะนับตั้งแต่เกิดมาคนล้านนาจะเกี่ยวพันกับผีมาตลอด เช่น เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในบ้านจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ฮ้องขวัญ” เมื่อเวลาที่เด็กเกิดความไม่สบายร้องไห้ก็มักจะเชื่อว่า มีวิญญาณของผีตายโหงมารบกวนเด็ก คนล้านนายังเชื่อว่าขวัญของเด็กเป็นขวัญที่อ่อนภูตผีวิญญาณต่าง ๆ มักจะมารบกวนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบายก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผี หรือหาเครื่องลางมาผูกที่ข้อมือของเด็ก ปัจจุบันในแถบทางชนบทเรายังสามารถพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่
การเลี้ยงผีของคนล้านนาจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือน 4 เหนือ จนถึงเดือน 8 เหนือ ช่วงเวลานี้เราจะพบว่าตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในภาคเหนือจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษกันอย่างมากมาย เช่นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาก็จะมีการเลี้ยงผีเสื้อบ้านเสื้อเมือง ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของชาวไทลื้อ พอหลังจากนี้อีกไม่นานก็จะมีการเลี้ยงผีลัวะ หรือประเพณีบูชาเสาอินทขิล ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของคนเมือง และยังไม่นับรวมถึงการเลี้ยงผีมดผีเม็งและการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะของชาวลัวะซึ่งจะทะยอยทำกันต่อจากนี้
ที่บอกว่าคนล้านนามีความผูกพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการนับถือผีนั้น เราสามารถพบเห็นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนล้านนาเอง เช่น เมื่อเวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่า มักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอ และเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าอาจสำคัญประการหนึ่งก็คือเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่า เมื่อเวลาที่ต้องถ่ายปัสสวะก็มักจะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนล้านนาผูกผันอยู่กับการนับถือผีอย่างแยกไม่ออก
ในช่วงกลางฤดูร้อนจะมีการลงเจ้าเข้าทรงตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า การลงเจ้าเป็นการพบปะพูดคุยกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งในปีหนึ่งจะมีการลงเจ้าหนึ่งครั้ง และในการลงเจ้าครั้งนี้จะถือโอกาสทำพิธีรดน้ำดำหัวผีบรรพบุรุษไปด้วย ยังมีพิธีเลี้ยงผีอยู่พิธีหนึ่งที่มักจะกระทำกันในช่วงเวลานี้และที่สำคัญในปีหนึ่งจะทำพิธีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การเลี้ยงผีมดผีเม็ง ชาวบ้านที่ประกอบพิธีนี้ขึ้นบอกว่า การเลี้ยงผีมดผีเม็งจะเลี้ยงอยู่ 2 กรณี คือเมื่อเวลามีคนเจ็บป่วยไม่สบายในหมู่บ้านจะทำพิธีบนผีเม็งเพื่อขอใช้ช่วยรักษา เมื่อเวลาที่หายแล้วจะต้องทำพิธีเชิญวิญญาณผีเม็งมาลง และจัดหาดนตรีมาเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนานแก่ผีมดผีเม็งด้วย อีกกรณีหนึ่งเมื่อไม่มีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีมดผีเม็งทุกปี โดยจะต้องหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมและจะต้องกระทำระหว่างช่วงเวลาเดือน 4 เหนือ ถึง เดือน 8 เหนือ ก่อนเข้าพรรษา เพราะถ้าไม่ทำพิธีผีมดผีเม็งอาจจะไม่คุ้มครอง คนในหมู่บ้านก็ได้ ดังนั้น เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวเรามักจะพบภาพพิธีเหล่านี้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ
คนล้านนากับความเชื่อในการเลี้ยงผี ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญของพวกเรา แม้ว่าการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะราบรื่นไม่ประสบปัญหาใด แต่ภายใต้จิตสำนึกที่แท้จริงแล้ว คนล้านนาเหล่านี้ไม่อาจลืมเลือนวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เคยช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตที่ปกติสุขมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ภาพที่เรายังคงพบเห็นได้เสมอเมื่อเวลาเดินทางไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทก็คือ เรือนเล็ก ๆ หลังเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนั่นก็คือ หอเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ที่ยังย้ำเตือนให้พวกเขาไม่ให้หลงไหลไปกับกระแสสังคมนั่นเอง.
Leave a Reply