ก่อนที่มนุษย์จะเรียนรู้และเติบโตจนมีวิวัฒนาการอย่างเช่นปัจจุบัน มนุษย์เราหาคำตอบในบางเรื่องที่เราไม่รู้ เช่น การเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ระดับหนึ่ง กับประสบการณ์ที่เคยผ่านพบมา ผสมผสานกลายเป็นเรื่องราวที่ใช้สั่งสอนต่อๆ กัน เป็นองค์ความรู้ในอีกระดับหนึ่ง เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต เป็นวัฒนธรรมและประเพณี ก่อเกิดเป็นความเชื่อต่างๆ ที่นำไปสู่การบูชาสรรพสิ่งในธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน แม่น้ำ ไฟ ดวงดาว ตามความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละเผ่าพันธุ์
รุ้งหรือรุ้งกินน้ำ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแบบหนึ่ง ซึ่งเราสามารถพบเรื่องราวได้ในเรื่องเล่าของวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งล้วนมีทฤษฎีเพื่ออธิบายการเกิดของรุ้งเป็นของตัวเอง และทำให้รุ้งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันมากมาย เช่น ลิ้นพระอาทิตย์ (The Tongue of the Sun), วิถีแห่งคนตาย (Road of the Death), สะพานสายฝน (Bridge of the Rain), ชายเสื้อแห่งสุริยเทพ (Hem of the Sun-god’s Coat), วิถีแห่งเทพสายฟ้า (Road of Thunder God), สะพานระหว่างโลกและสวรรค์ (The Bridge between Heaven and Earth), หน้าต่างสวรรค์ (Window to Heaven), และชนแห่งเทพสายฟ้าหรือพระอินทร์ (The Bow of Indra, God of Thunder) แม้แต่ในคัมภ์ไบเบิ้ลยังกล่าวว่า รุ้งเป็นข้อสัญญา หรือคำสัญญาของพระเจ้าที่ให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดว่า โลกจะไม่ถูกทำลายจากน้ำท่วมอีก
ยังมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติเกี่ยวกับรุ้งอีก เช่น ชนเผ่าหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้เชื่อกันว่า รุ้งที่เกิดขึ้นในทะเลเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเกิดขึ้นบนบก จะหมายถึงสัญญาณของวิญญาณร้ายที่กำลังมองหาเหยื่อ
ในแถบยุโรปตะวันออกมีความเชื่อว่า นางฟ้าจะเก็บทองคำไว้ที่ปลายรุ้ง และจะมีเพียงมนุษย์ที่เปลือยเปล่าเท่านั้นที่จะพบทองเหล่านั้น (ซึ่งก็คงเป็นปลายทางที่ไปไม่ถึง เพราะคนเรามีมุมการมองเห็นรุ้งที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เรายืน ดังนั้นยิ่งเราเดินเข้าไปหารุ้งเท่าไร จุดหมายของเราก็ยิ่งไกลขึ้นเท่านั้น)
ในเรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวโรมาเนียกล่าวว่า หากใครได้ดื่มน้ำบริเวณที่ปลายรุ้งที่ตกในแม่น้ำ จะกลายร่างเป็นเพศตรงข้ามทันที ยังมีเรื่องที่คล้ายคลึงกันเล่าว่าใครที่ลอดผ่านสายรุ้งจะเปลี่ยนเป็นเพศตรงข้ามได้ ไทยและไทใหญ่มีความเชื่อตรงกันว่า ถ้าเอามือชี้รุ้งกินน้ำแล้วนิ้วจะด้วน หรือหากมีรุ้งกินน้ำขึ้นทางทิศตะวันตก เชื่อว่าฝนจะตก ถ้าขึ้นทางทิศตะวันออกเชื่อว่าจะดี ชาวมอญเชื่อว่า ถ้าชี้รุ้งกินน้ำแล้วจะโชคร้าย ส่วนชาวจีนก็เชื่อเช่นเดียวกันว่า การชี้ไปที่รุ้งกินน้ำซึ่งเกิดขึ้นทางทิศตะวันออกจะทำให้โชคร้าย และทำให้เกิดแผลเหมือนกัน คนโบราณต่างเชื่อกันว่า รุ้งเป็นสิ่งที่มีชีวิตและมีอำนาจลึกลับ ถ้ามันลงกินน้ำที่บ้านใดแล้ว บ้านนั้นจะถึงกรณีวิบัติด้วยภัยต่างๆ
ในลัทธิบอน (Bon) ของชาวทิเบตเชื่อว่า ชาวทิเบตคนแรกลงมาจากท้องฟ้าด้วยบันไดวิเศษของรุ้งกินน้ำ และยังเชื่อว่า เมื่อผู้บรรลุมรรคผลเสียชีวิตลง ร่างกายจะสลายกลายเป็นแสงของรุ้งกินน้ำ
นอกจากนั้นสีของรุ้งยังมีความสำคัญในเรื่องเล่าเช่นกัน บางคนเชื่อว่าถ้าสีใดในรุ้งโดดเด่น หรือสังเกตเห็นเด่นชัด จะมีความหมายต่างๆ เช่น แสงสีแดงหมายถึงสงคราม สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และสีเหลืองหมายถึงความตาย
แม้ในเรื่องเล่าต่างๆ รุ้งจะมีที่มาและความเป็นไปที่ค่อนข้างลึกลับ แต่ความเป็นจริงแล้วการเกิดรุ้งอธิบายได้ง่ายๆ ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ รุ้งกินน้ำเป็นปรากฏการณ์ระหว่างแสงกับหยดน้ำที่ล่องลอยปะปนอยู่อากาศ รุ้งเกิดจากแสงแดดที่สะท้อนและหักเหในหยดน้ำ เพราะแสงอาทิตย์นั้น หากเรามองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นแสงสีขาว แต่ในความเป็นจริงแล้ว แสงประกอบด้วยแสงสีต่างๆ ได้แก่ สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด และสีแดง แสงแต่ละสีจะหักเหไปด้วยมุมต่างๆ กันขึ้นอยู่กับความยาวคลื่น โดยที่แสงสีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุด จังหักเหด้วยมุมมองที่น้อยที่สุด และแสงสีม่วงมีความยาวคลื่นสั้นที่สุดและหักเหมากที่สุด
เมื่อแสงอาทิตย์ส่องกระทบกับผิวของหยดน้ำ และเกิดการหักเหอีกครั้งแล้วจึงสะท้อนออก เกิดเป็นรุ้งกินน้ำตัวที่ 1 หรือรุ้งปฐมภูมิ(Primary Rainbow) เป็นรุ้งกินน้ำโค้งที่ชัดที่สุดที่เราเห็นกันเป็นประจำ มีแสงสีแดงอยู่นอกสุดและแสงสีม่วงอยู่ในสุด รุ้งปฐมภูมิเกิดจากการที่แสงหักเห 2 ครั้ง และสะท้อน 1 ครั้ง แต่หากแสงมีการหักเห 2 ครั้งและสะท้อน 2 ครั้ง จะเกิดเป็นรุ้งกินน้ำตัวที่ 2 หรือรุ้งทุติยภูมิ (Secondary Rainbow) ซึ่งมีสีจางกว่า และจะปรากฏอยู่เหนือหรือด้านนอกของรุ้งปฐมภูมิ โดยที่ลำดับสีของสายรุ้งทุติยภูมิ จะสลับกับลำดับสีของรุ้งปฐมภูมิ คือ สีแดงอยู่ล่างสุด และสีม่วงอยู่บนสุด ทั้งนี้เพราะ ลำแสงในรุ้งทุติยภูมิจะสัมผัสกับเม็ดฝนในมุมที่สูงกว่ารุ้งปฐมภูมิ และมีการสะท้อนถึง 2 ครั้ง แม้ว่าในธรรมชาติจะสามารถเห็นรุ้งกินน้ำได้อย่างมากเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น แต่ทางทฤษฎีแล้ว แสงสามารถสะท้อนในหยดน้ำได้มากกว่า 2 ครั้ง จึงสามารถเกิดรุ้งตัวที่ 3, 4 และ 5 ไปได้เรื่อยๆ ในทุกๆ ครั้งที่แสงจำนวนหนึ่งหักเหออกมาจากหยดน้ำ แล้วทำให้เกิดรุ้งกินน้ำ แสงที่เหลือจะสะท้อนต่อไปและหักเหออกมา ทำให้เกิดรุ้งกินน้ำตัวต่อๆ ไปมีความเข้มน้อยลง และเห็นได้ยากขึ้น
หลายคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ดูจะลึกลับในสมัยก่อน ตอบได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สมัยนี้ เช่น ทำไมจึงไม่มีใครเห็นรุ้งตัวเดียวกันในเวลาเดียวกันได้ ถึงแม้ว่าจะยืนเคียงกันอยู่ก็ตามเหตุผลก็เพราะรุ้งมีลักษณะเป็นรังสีที่กระจายออกมาจากเม็ดละอองฝนในอากาศและมีส่วนโค้งเป็นวงกลม จุดศูนย์กลางแห่งความโค้งของรุ้งต่างจุดกัน รุ้งที่เห็นจึงมิใช่รุ้งตัวเดียวกัน หรือเหตุใดรุ้งที่อยู่ใกล้พื้นดิน จึงเห็นชัดเจนกว่ารุ้งกินน้ำตัวเดียวกันที่อยู่สูงขึ้นไป ก็เนื่องจากรูปร่างของหยดน้ำใกล้พื้นดินมีรูปทรงที่กลมกว่า ทำให้การหักเหและสะท้อนเกิดขึ้นได้ดีกว่า นอกจากนั้นรุ้งจะต้องเกิดในท้องฟ้าด้านที่อยู่ตรงข้ามกันกับดวงอาทิตย์ในตอนเช้า หรือตอนเย็นเสมอ และต้องเป็นขณะที่ท้องฟ้าส่วนนั้นมีเม็ดละอองไอน้ำอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกครั้งหลังฝนตก หากแต่เกิดทุกครั้งที่มีสภาวะอากาศที่เหมาะสม คือ มีละอองฝนและมีแสงแดด เราจึงอาจเห็นรุ้งอย่างเดียวกันนี้ได้จากฟองไอน้ำของน้ำตก จากฟองไอน้ำที่เราพ่นออกมาจากปาก และแท้จริงแล้ว รุ้งเกิดเป็นวงกลมแต่ที่เราเห็นรุ้งเพียงส่วนหนึ่งเพราะขอบโลกบังแสงอาทิตย์ไว้ เราสามารถมองเห็นแบบเต็มวงได้หากมองจากเครื่องบินที่บินอยู่เหนือกลุ่มของละอองน้ำ หรือยืนอยู่บนยอดเขาแล้วมองลงไปในหุบเขาที่มีละอองน้ำ
แม้ปัจจุบันการบูชาสรรพสิ่งในธรรมชาติ ไม่ได้เป็นความเชื่อที่เรากระทำกันอีกแล้ว และวิทยาการสมัยใหม่ ก็มีความก้าวหน้าเกินกว่าที่มนุษย์เราจะมัวงมงายกับความเชื่อเหล่านั้น เพราะวิทยาศาสตร์สามารถตอบคำถามต่างเหล่านั้นได้ทั้งหมด เราทราบแล้วว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ล้วนมีที่มาที่ไป มีเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ บางครั้งจึงต้องแยกวิทยาศาสตร์ และความเชื่อออกจากกัน วิทยาศาสตร์เป็นความจริง ส่วนความเชื่อหรือศรัทธาก็ถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งความจริงและความเชื่อควรจะสอดคล้องไปด้วยกัน
การนับถือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยความเชื่อหรือความศรัทธาอันเกิดจากความไม่รู้ หากนำมาซึ่งการกระทำที่ดี การเคารพในธรรมชาติก็ดูจะไม่ใช่เรื่องงมงาย เพียงแต่เราต้องรักษาระดับของการกระทำนั้นให้พอดี เพราะอย่างน้อย ถ้ามนุษย์ยังมีความเคารพและยำเกรงในอำนาจของธรรมชาติบ้าง มนุษย์อาจมีการยั้งคิด และทำร้ายธรรมชาติกันน้อยลง
ขอบคุณข้อมูลจาก http://nawaporn.wordpress.com
Leave a Reply