เมื่อถึงวันเพ็ญ เดิอนสิบสอง อันเป็นวันลอยกระทง นอกจากการลอยกระทง สีสันอีกอย่างของงานลอยกระทงคือการประกวดนางนพมาศ นางเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร มาทำความรู้จักนางกันสักหน่อยก่อนจะลอยกระทงในปีนี้
นางนพมาศ เป็นธิดาพระศรีมโหสถและนางเรวดี ตามตำนานกล่าวว่านางเกิดเมื่อปีมะโรง ฉศก ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๘๔๗ จุลศักราช ๖๖๖ ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นหญิงรูปงาม มีคุณธรรมความดีล้ำเลิศ เพราะได้รับการอบรมจากบิดาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะในทางพุทธศาสนา อักษรศาสตร์ การช่าง การดนตรี การขับร้อง นางนพมาศได้ถวายตัวเป็นสนมของพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ลำดับที่๕ แห่งกรุงสุโขทัย ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทำหน้าที่ขับร้องถวาย
นางนพมาศเป็นผู้แต่งหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงกำเนิดของนางนพมาศ การถวายตัวเข้ารับราชการเป็นข้าราชการฝ่ายใน ข้อควรปฏิบัติของสตรี ประเพณีต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย และสั่งสอนถึงข้อควรประพฤติปฏิบัติของข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวรรณคดีร้อยแก้วที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่ง โบราณคดีสโมสรได้ประทับตรามังกรให้เพื่อรับรองว่าเป็นหนังสือที่แต่งดี จึงนับได้ว่านางนพมาศเป็นกวีหญิงคนแรกของไทย
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวถึงการที่นางนพมาศประดิษฐ์กระทงถวายดังนี้
“…อยู่ได้ห้าวัน ภอถึงพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญ เดือนสิบสองเปนนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาชนประชาชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้นต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตร ด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปแลสันถานต่าง ๆ ประกวดกัน มาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบรายตามแนวโคมไชยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกษธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงษ์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำ
โคมลอยร้อยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่าง ๆ ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานยังนัมทานที แลข้าน้อยก็กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึ่งเลือกผะกาเกสรศรีต่าง ๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบาน กลีบรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนศรีสลับให้เปนลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเปนรูปมยุระคะณานกวิหคหงษ์ ให้จับจิกเกสรบุปผาชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเปนระเบียบเรียบเรียง วิจิตรไปด้วยศรีย้อมสดส่างควรจะทัศนายิ่งนัก…”
ด้วยเหตุนี้เราจึงถือว่านางนพมาศเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงลอยเป็นรูปดอกบัว นับแต่นั้นมาคนทั้งหลายก็ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวเช่นเดียวกับนางนพมาศลอยไปตามกระแสน้ำในคืนวันลอยกระทง แต่ในปีนี้มีผู้คิดประดิษฐ์กระทงขนมปังแทนกระทงใบตอง นับเป็นกระทงแบบใหม่ซึ่งดูเหมือนจะได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ
เพื่อสืบทอดประเพณีไทยและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เรามาร่วมกันรณรงค์ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งกระทง” ดีไหมคะ
หมายเหตุ
กมุท กระมุท หมายถึง ดอกบัว
ระแทะ หมายถึง เกวียนสำหรับนั่งขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เทียมด้วยโค
ขอบคุณข้อมูลจาก www.gotoknow.org
Leave a Reply