รีวิวหมอดู ดูดวง เสริมดวง ดวงชะตา ราศี ฟรี | HoroGuide.com

สรรหาหมอดูที่น่าเชื่อถือ มารีวิวหมอดู พร้อมทั้งให้คะแนนและบอกรายละเอียด รวมถึงสาระความรู้ เกี่ยวกับการดูดวง เสริมดวงการงาน เสริมดวงการเงิน เสริมดวงความรัก ฟรี

Advertisement

“พระธาตุประจำปีเกิด” โดยนายมหาทอง

พระธาตุประจำปีชวด

พระธาตุศรีจอมทอง

 พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนยอดดอยจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวา มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นคือ เป็นพระบรมธาตุที่มิได้ฝังใต้ดิน แต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ภายในวิหาร สามารถอันเชิญมาสรงน้ำได้

ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยนี้และทรงพยากรณ์ว่าที่นี่จะเป็นที่ ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุของพระองค์ในภายหน้า ต่อมาราวปี พ.ศ. ๑๙๙๕ นางเม็งและนายสอยได้พบพระบรมธาตุ จึงได้ก่อพระเจดีย์และสร้างเสนาสนะที่ดอยต้นทอง คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดจอมทอง ในสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๘) กษัตริย์องค์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์มังราย ได้สร้างวิหารจัตุรมุข ภายในมีมณฑปปราสาทเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ เจ้าเมืองเชียงใหม่หลายพระองค์ได้อันเชิญพระบรมธาตุศรีจอมทองไปยังเมืองเชียงใหม่ เพื่อทำการสักการะ โดยมีวัดต้นเกว๋นที่ อ.หางดง เป็นวัดที่หยุดพักขบวนแห่พระบรมธาตุเข้าเมือง

ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ มีพิธีแห่พระบรมธาตุไปบูชาข้าวที่อุโบสถและให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ โดยจะมีการกล่าวบทอันเชิญ และใช้ช้อนทองคำเชิญพระธาตุจากผอบมาประดิษฐานในโกศแก้วที่ตั้งบนพานเงิน ตามธรรมเนียมเดิมควรนำน้ำจากน้ำแม่กลาง เจือน้ำหอมหรือแก่นจันทร์มาใช้สรง หรือจะเป็นน้ำสะอาดเจือของหอมก็ได้

พระธาตุประจำปีฉลู

พระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองลำปาง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเสด็จถึงหมู่บ้านลัมภการีวัน ลัวะชื่ออ้ายคอนได้นำน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้พางและมะพร้าวมาถวาย พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ว่า ที่นี่จะมีนครชื่อ ลัมพาง และได้มอบพระเกศาธาตุให้ลัวะอ้ายคอนนำไปประดิษฐาน ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอรหันต์ได้นำพระธาตุหน้าผากและพระธาตุลำคอมาประดิษฐานที่นี่

พระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่กลางเวียงโบราณ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเวียงทางศาสนาโดยเฉพาะภายในวัดมีสิ่งน่าชมมากมาย ได้แก่ วิหารพระพุทธ เป็นวิหารไม้แบบล้านนาที่ตกแต่งด้วยลายคำ คือลายทองบนพื้นแดง และภายในสามารถเห็นภาพเงาพระธาตุที่ลอดผ่านรูผนังปรากฏบนผืนผ้า วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถงมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่ของล้านนา วิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานซุ้มพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด และมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ และชาดกที่เขียนในราวสมัยรัชกาลที่ ๕ หอพระพุทธบาท เป็นอีกแห่งที่ปรากฏภาพเงาพระธาตุ แต่ห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้น และที่หอพระแก้ว ประดิษฐานพระแก้วจากวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระพุทธรูปคู่เมืองลำปาง

 

พระธาตุประจำปีขาล

พระธาตุช่อแฮ

พระธาตุช่อแฮตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมภายในวัดบ่งบอกว่ามีอายุราว พ.ศ. ๑๙๐๐ แต่ตำนานพระธาตุได้เล่าประวัติอันเก่าแก่ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพต และพบกับเจ้าลาวนามลัวะอ้ายค้อม เมื่อขุนลัวะทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้าจึงนำภัตตาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าที่นี่ต่อไปจะมีเมืองชื่อเมืองแพร่

ในครั้งนั้นพระอรหันต์และพระยาอโศกที่เสด็จมาด้วยได้ทูลขอพระเกศาธาตุ มอบให้ขุนลัวะ ไปบรรจุโกศแก้วแล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ และพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้วให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐานที่ นี่
นามของพระบรมธาตุเจดีย์นี้มีเรื่องเล่าว่า มาจากการที่ขุนลัวะนำผ้าแพรมารองรับพระเกศาธาตุ จึงมีชื่อว่า ช่อแพร และเพี้ยนเป็นช่อแฮ ในภายหลัง แต่บ้างก็ว่ามีชาวบ้านนำผ้าแพรอย่างดีมาผูกบูชาองค์พระธาตุ

งานนมัสการพระธาตุจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นงานประจำปีที่สำคัญของชาวเมืองแพร่ ในงานมีการแห่ตุงหลวงถวายแด่องค์พระธาตุและการแสดงมหรสพ

พระธาตุประจำปีเถาะ
พระธาตุแช่แห้ง

พระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่บนยอดดอยขนาดเล็กนอกเมืองน่าน มีเรื่องราวเล่าว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแช่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสีที่มาสรงน้ำที่เดียวกับพระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงขอพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง ๗ ศอกไว้ด้านบน

ต่อมาราว พ.ศ. ๑๘๙๖ สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทยจึงมอบพระธาตุ ๗ พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ ๒๐ องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็นพระธาตุแช่แห้งคู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้

ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ทางวัดมีการจัดงานนมัสการพระธาตุแช่แห้งในงานมีมหรสพ การแห่ตุงถวายพระบรมธาตุ และการจุดบอกไฟถวายเป็นพุทธบูชาตามธรรมเนียมดั้งเดิม

พระธาตุประจำปีมะโรง
พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ในตำนานสิหิงคนิทานและพงศาวดารโยนก เล่าประวัติว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไป ๗๐๐ ปี พรเจ้าสีหลและกษัตริย์องค์อื่นใคร่ทอดพระเนตรรูปของพระพุทธเจ้า มีแต่พระยานาคที่เคยเห็นพระองค์ จึงแปลรูปเนรมิตตนเป็นรูปพระพุทธเจ้า พระเจ้าสีหลได้กระทำการบูชา ๗ วัน ๗ คืน และให้ช่างภาพถ่ายแบบพระพุทธรูปไว้

ต่อมาพระร่วงแห่งสุโขทัยได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธสิหิงค์ ใคร่จะได้บูชาจึงบอกกับพระเจ้าสิริธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าสิริธรรมได้ส่งทูตไปขอจากลังกาอัญเชิญไปให้พระเจ้าสุโขทัย ต่อมาพระพุทธสิหิงค์ถูกอันเชิญไปยังเมืองสำคัญจนกระทั่งราวปี พ.ศ. ๑๙๘๓ เจ้ามหาพรหมได้อันเชิญพระพุทธสิหิงค์จากำแพงเพชรมาถวายพญาแสนเมืองมาแห่งเชียงใหม่ เดิมพญาแสนมืองมาจะให้อันเชิญไปประดิษฐานที่วัดบุปผาราม แต่เมื่อรถที่อัญเชิญมาถึงหน้าวัดลีเชียงพระ (ชื่อเดิมวัดพระสิงห์) รถเกิดติดขัดไม่สามารถชักลากไปได้ จึงให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัดนี้ ในปี พ.ศ. ๒๐๖๓ พระเมืองแก้วได้สร้างวิหารลายคำ เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมสมัยรัชการที่ ๕ เรื่องสังข์ทอง ฝีมือช่างล้านนา และเรื่องสุวรรณชาดก ฝีมือช่างภาคกลาง
ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานบนบุษบก แห่แหนรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการะ

พระธาตุประจำปีมะเส็ง
พระศรีมหาโพธิหรือต้นโพธิ์

พระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ณ พุทธคยา สำหรับชาวล้านนายังมีความเชื่อว่าต้นโพธิ์เป็นไม้ศักด์สิทธิ์ ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงมีประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์และเครื่องประกอบพิธีกรรมใต้ต้นโพธิ์

สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเส็งที่มีพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิด สามารถบูชาต้นโพธิ์ตามวัดแทนได้ โดยที่วัดมหาโพธาราม เชียงใหม่นี้ เป็นวัดสำคัญที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก และพระเจ้าติโลกราชผู้สร้างวัด ทรงให้นำต้นโพธิ์จากลังกามาปลูก พร้อมทั้งจำลองสัตตมหาสถาน คือสถานที่ ๗ แห่งที่พระพุทธเจ้าได้เสวยวิมุตติสุขก่อนเผยแผ่ศาสนา ได้แก่

  • ปฐมโพธิบัลลังก์ คือต้นโพธิ์ที่ประทับตรัสรู้
  • อนิมิตเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าประทับทอดพระเนตรต้นโพธิ์หลังตรัสรู้
  • รัตนจงกลมเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จเดินจงกลม ๗ วัน
  • รัตนฆรเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าพิจารณาพระอภิธรรม
  • อชปาลนิโครธเจดีย์ คือต้นไทรที่พระพุทธเจ้าประทับ
  • มุจลินทเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นจิก ใกล้สระมุจลินท์
  • ราชายตนเจดีย์ คือต้นเกดที่พระพุทธเจ้าประทับ
    ที่สำคัญคือพระเจดีย์ประธานของวัดที่จำลองแบบจากเจดีย์พุทธคยา มีลายปูนปั้นรูปเทวดาซึ่งงดงามมากที่ผนังด้านนอกของห้องคูหาส่วนฐานพระเจดีย์
ขอบคุณที่มาจาก http://www.changnoi-holiday.com