รีวิวหมอดู ดูดวง เสริมดวง ดวงชะตา ราศี ฟรี | HoroGuide.com

สรรหาหมอดูที่น่าเชื่อถือ มารีวิวหมอดู พร้อมทั้งให้คะแนนและบอกรายละเอียด รวมถึงสาระความรู้ เกี่ยวกับการดูดวง เสริมดวงการงาน เสริมดวงการเงิน เสริมดวงความรัก ฟรี

Advertisement

ย้อนรอยพระนางจามเทวี โดยนายมหาทอง

 

พระนางจามเทวี เป็นสตรีซึ่งปรากฏพระนามในเอกสารต่างๆ ซึ่งระบุว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย อันเป็นอาณาจักรโบราณในภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน

ตำนานต่างๆ ที่กล่าวถึงพระองค์ระบุศักราชไว้ไม่ตรงกัน ปรากฏบันทึกและการสอบศักราชโดยบุคคลต่างๆ เช่น

  • หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่าทรงครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1205 อยู่ในราชสมบัติ 7 ปี
  • มานิต วัลลิโภดม สอบค้นว่าประสูติเมื่อ พ.ศ. 1166 ครองราชย์ พ.ศ. 1205 ครองราชย์อยู่ 17 ปี สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 1258 รวมพระชันษาได้ 92 ปี
  • ตำนานพระนางจามเทวีฉบับแปลและเรียบเรียงโดย นายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ระบุว่าประสูติเมื่อ พ.ศ. 1176 ครองราชย์ พ.ศ. 1202 สละราชสมบัติ พ.ศ. 1231 และสวรรคต พ.ศ. 1274

ชาติภูมิ

ชาติกำเนิดของพระองค์นั้น ในตำนานจามเทวีวงศ์และตำนานมูลศาสนากล่าวว่าทรงเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ แต่ตำนานมุขปาฐะพื้นบ้านแห่งหนึ่งกล่าวว่า พระองค์เป็นธิดาของคหบดีชาวหริภุญชัยซึ่งมีเชื้อสายชาวเมง (ตำนานเรียกว่า เมงคบุตร) อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พระนางจามเทวีเมื่อแรกประสูติไว้ว่าตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง พ.ศ. 1176 เวลาจวนจะค่ำ ขณะเมื่อพระนางยังมีพระชนม์ได้ 3 เดือนนั้น มีนกยักษ์ตัวหนึ่งโฉบเอาพระนางขึ้นไปบนฟ้า เมื่อนกนั้นบินผ่านหน้าสุเทวฤๅซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ ณ เขาอุจฉุตบรรพต (แปลว่าเขาไร่อ้อย เชื่อว่าคือดอยสุเทพในปัจจุบัน) ท่านจึงได้แผ่เมตตาจิตให้นกนั้นปล่อยทารกน้อยลงมา แล้วรับเอาเด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมทั้งตั้งชื่อให้ว่า นางวี ด้วยถือเอานิมิตที่พระฤๅษีใช้พัด (ภาษาถิ่นเรียกว่า “วี”) รองรับพระนางเนื่องจากพระฤๅษีอยู่ในสมณเพศ ไม่อาจถูกตัวสตรีได้ ต่อมาพระนางได้ร่ำเรียนสรรพวิชาการต่างๆ จากสุเทวฤๅษี

ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้ผูกดวงและตรวจสอบชะตา ทราบว่ากุมารีผู้เป็นบุตรบุญธรรมของท่านจะมีวาสนาเป็นถึงจอมกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองอันใหญ่โตซึ่งจะรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า จึงตกลงใจว่าจะต้องส่งเด็กหญิงไปสู่ราชสำนักเพื่อรับการอภิเษกขึ้นเป็นเชื้อพระวงศ์ให้สมควรแก่การที่จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และที่เหมาะสมในสายตาท่านฤๅษีคือ ราชสำนักแห่งกรุงละโว้ ซึ่งเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในสุวรรณภูมิเวลานั้น

จนกระทั่งเมื่อพระนางมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ท่านสุเทวฤๅษีจึงได้เนรมิตแพขึ้น ส่งกุมารีน้อยล่องไปตามน้ำจากเมืองเหนือ โดยพญากากะวานรและบริวารจำนวน ๓๕ ตัวโดยสารแพไปด้วย อีกทั้งยังฝากหนังสือไปฉบับหนึ่งเพื่อกราบทูลพระเจ้ากรุงละโว้ (ลวปุระ) ว่ากุมารีน้อยนี้จะไปช่วยละโว้ประหารศัตรู เด็กหญิงและวานรทั้งหลายล่องตามลำน้ำไปเป็นเวลานานหลายเดือนจึงเข้าสู่เขตกรุงละโว้ ประชาชนชาวละโว้สองฝั่งลำน้ำได้โจษขานถึงแพเล็กๆ นี้ด้วยความประหลาดใจครั้นถึงท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล แพเนรมิตก็มิได้ล่องตามน้ำต่อไปกลับลอยวนเวียนอยู่บริเวณนั้น ประชาพลเมืองได้เห็นต่างโจษขานกันอึงคนึง บ้างก็เข้าไปพยายามดึงนาวาเข้าฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ชาวบ้านเห็นเหตุเป็นอัศจรรย์และต่างพากันชื่นชมเด็กหญิงซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่องน่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง ความทราบถึงบรรดาขุนนาง จึงได้ไปตรวจดูที่ฝั่งน้ำ เห็นความจริงประจักษ์แก่ตาจึงรีบกลับเข้าพระราชวังกราบบังคมทูล พระเจ้าจักวัติ ผู้ครองกรุงละโว้ ให้ทรงทราบทันที

เจ้าแผ่นดินกรุงลวปุระได้เสด็จไปยังท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคลพร้อมด้วยมเหสีในทันทีนั้น เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปทั้งหมด พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทหารที่ตามเสด็จชะลอแพเนรมิตเข้าสู่ฝั่ง แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กำลังของเหล่าทหารแห่งกรุงลวปุระไม่อาจชักลากแพเข้าสู่ท่าน้ำได้ ไม่ว่ากษัตริย์จะมีพระบัญชาให้เพิ่มจำนวนทหารมากขึ้นสักเท่าใดก็ตาม การณ์อันเป็นไปโดยอัศจรรย์ดังนี้ ทำให้เจ้าแผ่นดินทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า กุมารีแรกรุ่นในท่ามกลางฝูงวานรบนแพนี้คงจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากมาย และแพนั้นก็คงจะเป็นแพวิเศษที่สามัญชนจะไปแตะต้องมิได้ พระองค์จึงเสด็จจากที่ประทับพร้อมด้วยพระมเหสีและทรงยึดเชือกที่ผูกแพนั้นไว้ด้วยพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์

และแล้วเหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีกเป็นคำรบสาม พระเจ้ากรุงลวปุระและพระมเหสีเพียงแต่ทรงชักเชือกนั้นด้วยแรงเฉพาะสองพระองค์ แพวิเศษก็ลอยเข้าสู่ท่าน้ำได้โดยง่าย และดูราวกับเทพยดาฟ้าดินจะทรงอำนวยพรให้แก่ประพฤติเหตุอันอัศจรรย์นี้ เพราะเมื่อแพวิเศษลอยเข้าเทียบท่าน้ำ ได้มีฝนโปรยปรายเป็นละอองบางเบา ยังความสดชื่นแก่ทุกคนในที่นั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งลำน้ำได้เห็นต่างก็พากันชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และสรรเสริญบุญญานุภาพของกุมารีน้อยไปทั่วทั้งพระนคร

พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีได้รับกุมารีน้อยไว้ด้วยความเสน่หาอย่างยิ่ง พระมเหสีนั้นถึงกับเสด็จเข้าไปสวมกอดและจุมพิตกุมารีตั้งแต่แรกขึ้นสู่ฝั่ง พระเจ้ากรุงละโว้ผู้เต็มไปด้วยความปิติในพระหฤทัยได้ทรงน้ำกุมารีผู้น่ารักขึ้นประทับบนราชรถ และต่างพากันเสด็จเข้าสู่ราชสำนักกรุงละโว้ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีสองข้างทางด้วยความชื่นชมยินดีโดยทั่วหน้าและได้ตั้งพระนามให้ใหม่ว่า พระนางจามเทวี

 

 

 

พระราชธิดาแห่งละโว้

ในราชสำนักกรุงละโว้ กุมารีได้รับการผลัดเปลี่ยนฉลองพระองค์ให้งดงามสมพระเกียรติ ครั้นแล้วได้เสด็จสู่ท้องพระโรงอันเป็นที่ประชุมเหล่ามุขมนตรีเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย กษัตริย์และพระมเหสีก็เสด็จออกประทับบนพระบัลลังก์ มีพระราชดำรัสให้พระราชครูพยากรณ์ดวงชะตาของเด็กหญิง พระราชครูได้คำนวณกาลชะตาโดยละเอียดแล้วถวายคำพยากรณ์ว่า

“ขอเดชะ กุมารีน้อยผู้นี้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบุญญานุภาพและพระบารมีอันยิ่งใหญ่ ต่อไปภายหน้าจักได้เป็นถึงจักรพรรดินีครองแว่นแค้น ปรากฏพระเกียรติยศเกริกไกรไปทั่ว แม้ว่าพระราชาและเจ้าชายพระองค์ใดได้เสกสมรสด้วยก็จักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรัตนะทั้ง 7 ประการอย่างแน่นอน”

พระเจ้ากรุงละโว้ทรงทราบดังนั้นก็ทรงเปี่ยมด้วยความโสมนัสอย่างยิ่ง เพราะได้ประจักษ์แก่พระปรีชาญาณว่าเทพยดาฟ้าดินได้ประทานกุมารีผู้นี้แด่พระองค์และกรุงลวปุระ ทั้งพระองค์เองและพระมเหสียังมิได้ทรงมีพระโอรสธิดา จึงทรงมีพระราชโองการให้จัดพระราชพิธีอภิเษกกุมารีวีขึ้นดำรงพระยศเป็นพระธิดาแห่งกรุงละโว้และได้ทรงเฉลิมพระนามใหม่ประกาศไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะปุรีราเมศวร

ตำนานว่า วันประกอบพิธีอภิเษกนั้นเป็นวันที่ 3 ภายหลังพระนางจามเทวีเสด็จเข้าสู่ราชสำนักลวปุระ ตรงกับวารดิถีอาทิตยวารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย พุทธศักราช 1190 เวลานั้นทรงมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา เจ้าหญิงพระองค์แรกแห่งนครลวปุระทรงถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นปฐมว่า

“ข้าฯ ขอกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันพิทักษ์รักษากรุงละโว้ว่าข้าฯ จะเป็นมิตรที่ดีต่อท่านทั้งหลาย จะขอปกปักษ์พิทักษ์รักษาอาณาจักรละโว้ด้วยชีวิต จะปฏิบัติทุกทางที่จะยังความสุขให้ทั่วพระราชอาณาจักรแห่งนี้”

สิ้นพระราชดำรัส ปวงเสนาอำมาตย์และพสกนิกรทั้งหลายต่างพากันแซ่ซ้องถวายพระพรพระธิดาพระองค์ใหม่ ทั้งราชสำนักและบ้านเมืองกระหึ่มด้วยเสียงมโหรีปี่พาทย์ที่บรรเลงเพลงสรรเสริญ มีการบังเกิดพระพิรุณโปรยปรายเป็นละอองชุ่มเย็นไปทั่วเมืองละโว้เป็นกาลอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังพระราชพิธีอภิเษก พระเจ้ากรุงละโว้ได้พระราชทานพระธิดาในพระเจ้าทศราชแห่งกรุงรัตนปุระ 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงปทุมวดี และเจ้าหญิงเกษวดี ให้เป็นพระพี่เลี้ยงคอยถวายการดูแลพระธิดาพระองค์ใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ถวายการสอนวิชาศิลปะศาสตร์แขนงต่างๆ เพิ่มเติมแก่พระธิดาน้อยด้วย

 

ศึกชิงพระนางจามเทวี

เจ้าหญิงจามเทวีได้เสด็จประทับในราชสำนักกรุงลวปุระ และเจริญพระชันษาขึ้นโดยเป็นที่รักใคร่เสน่หาของพระราชา พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเสนาอำมาตย์และประชาชนชาวละโว้ทั้งหมด เวลาได้ล่วงเลยจนพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุได้ 20 พรรษา ปรากฏว่าทรงมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปยังทุกอาณาจักรอันใกล้เคียง พระปรีชาญาณและบุญญานุภาพแห่งพระองค์นั้นก็แผ่ไพศาล เป็นที่หมายปองของเจ้าครองนครต่างๆ

ความงดงามในพระรูปแห่งพระองค์หญิงจามเทวีนั้น เป็นที่เล่าลือกันว่าไม่มีหญิงใดจะทัดเทียมทั้งสิ้น ดังมีบรรยายไว้ในตำนานต่างๆ ว่า

“ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเนตรดำซึ้งเป็นแวววาวและต้องผู้ใดแล้วยังผู้นั้นให้งงงวยไปด้วยพิษเสน่หา พระขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูขณะน้าวสาย พระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมพระโอษฐ์แดงระเรื่อดุจชาดป้าย พระทนต์เรียบขาวสะอาดเป็นเงางามดุจไข่มุก ขณะยุรยาตรพระวรกายอันอ่อนไหวให้ชวนพิศ เวลาก้าวพระบาทนั้นประดุจพระนางหงส์เมื่อเยื้องย่างกราย พระวรกายหอมดังกลิ่นดอกบัวหลวง หาสตรีใดเทียบมิได้”

เมื่อพระนางจามเทวีมีพระชนมายุได้ 20 พรรษา พระเจ้ากรุงละโว้จึงได้กระทำพิธีหมั้นหมายพระนางจามเทวีไว้กับเจ้าชายรามราชแห่งเมืองรามบุรีซึ่งเป็นเจ้าชายจากแว่นแคว้นใกล้เคียง ทว่าด้วยกิตติศัพท์ความงดงามของพระนางจามเทวีนั้นเป็นที่เลื่องลือทั่วไป เจ้าชายแห่งเมืองโกสัมพี (เชื่อว่าคืออาณาจักรมอญหรือพม่าในเวลานั้น) จึงได้ส่งบรรณาการมาสู่ขอพระนางจามเทวีกับพระเจ้ากรุงละโว้ แต่พระเจ้ากรุงละโว้ได้ตอบปฏิเสธเพราะเจ้าหญิงทรงมีพระคู่หมั้นอยู่แล้ว เจ้าชายแห่งเมืองโกสัมพีรู้สึกแค้นพระทัย จึงได้ยกทัพเมืองโกสัมพีและทัพจากเมืองต่างเข้าต่อรบกับละโว้เพื่อชิงพระนางจามเทวี

 

ตามตำนานกล่าวว่ากองทัพของฝ่ายโกสัมพีมีจำนวนมากกว่าฝ่ายละโว้มาก กองทัพละโว้จึงประสบความปราชัย ฝ่ายขุนนางเมืองละโว้จึงปรึกษากันว่าจำต้องยอมรับไมตรีจากเมืองโกสัมพีเพราะสู้ไม่ได้ แต่พระนางจามเทวีกลับตัดสินพระทัยที่จะรบโดยพระนางจะเป็นผู้นำทัพเอง เมื่อพระเจ้ากรุงละโว้ผู้เป็นพระราชบิดาทรงอนุญาตแล้ว พระนางจึงจัดทัพหน้าเป็นหญิง 500 คน ชาย 1,000 คน (บ้างก็ว่า 2,000 คน) และกำลังจากเมืองพันธมิตรอื่นๆ เข้าทำการรบโดยล่อกองทัพข้าศึกให้เข้ามาในที่แคบแล้วจึงตีกระหนาบ กระทั่งเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายต่างเสียหายอย่างหนัก พระนางจึงตัดสินพระทัยให้นายทัพของแต่ละฝ่ายเข้าดวลอาวุธกันตัวต่อตัว ตัวพระนางเองดวลอาวุธกับเจ้าชายแห่งโกสัมพีจนได้รับชัยชนะ เจ้าชายจึงเชือดพระศอพระองค์เองด้วยขัตติยะมานะ กองทัพฝ่ายโกสัมพีที่เสียจอมทัพจึงยอมแพ้

ชัยชนะของพระนางเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของชาวละโว้อย่างยิ่ง แต่พระนางเองมิได้ยินดีในชัยชนะนั้น กลับรู้สึกสลดพระทัยที่ต้องมีคนตายในสงครามนี้มากมาย พระนางจึงตรัสสั่งให้สร้างวัดขึ้นในบริเวณสมรภูมิขึ้นวัดหนึ่งเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ตายในการรบ พร้อมทั้งทรงจัดการพระศพของบรรดาเจ้านายเมืองต่างๆ ทั้งสองฝ่าย ที่สิ้นชีวิตในการรบอย่างสมเกียรติ หลังเหตุการณ์สงบแล้ว งานอภิเษกของพระนางจามเทวีจึงมีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ตำนานบางฉบับก็ได้กล่าวว่า พระเจ้ากรุงละโว้ได้เวนราชสมบัติให้แก่เจ้าชายรามราชในคราวเดียวกัน บางฉบับกล่าวแต่เพียงว่าเจ้าชายรามราชได้เข้ามาอยู่ในราชสำนักละโว้เท่านั้น

ตำนานได้ระบุว่า สงครามเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1196 และการอภิเษกนั้นได้มีขึ้นในอีก 2 ปีถัดมา

 ขอบคุณข้อมูลจาก: http://th.wikipedia.org/wiki

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *