ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่มาอีกปีแล้ว…. วันเวลาผ่านไปรวดเร็วอะไรเช่นนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคนน้องบารมีขอพาไปแนะนำวัดที่ไม่ควรพลาดในการไปกราบไหว้ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้นะจ๊ะ
โดยปกติวัดที่ได้รับความนิยมให้ไปกราบไหว้นั้น ล้วนมีชื่อเป็นสิริมงคลมากๆ…
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (วัดกัลยา, วัดซำปอกง)
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร (วัดชนะสงคราม)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง)
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดสุทัศน์)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร
ซึ่งในตอนที่ 1 นี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือที่คนไทย เรียกกันว่า “วัดกัลยา, วัดซำปอกง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ไปกราบไหว้ขอพรเพื่อ “เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี”
ประวัติความเป็นมา
เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ว่าที่สมุหนายก ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ และเรียกกันต่อมาว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน” สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงเมือง อย่างเช่นวัดพนัญเชิง
หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๕ วา ๓ ศอกคืบ สูง ๗ วา ๒ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เสด็จก่อพระฤกษ์เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ อยู่ภายในพระวิหารขนาดใหญ่อยู่กลางวัด ตรงกลางระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถ
พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระราชทาน เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ ๓ และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ ๔
หน้าวิหารหลวงเป็นหอระฆังที่เพิ่งสร้างใหม่ เก็บระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บริเวณเขตพุทธาวาสมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหลังมีประตูออก 1 ประตู ก่อประตูโค้งแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ 4 ออกไปสู่บริเวณเขตสังฆาวาสที่มีถนนคั่นอยู่ข้างนอก ระหว่างพระวิหารใหญ่กับพระวิหารเล็ก มี “หอระฆัง” คั่นกลาง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดความกว้าง 9 เมตร ความสูง 30 เมตร พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2476 ด้านล่างของหอระฆังได้ติดตั้ง “ระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ส่วนด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติศาลาการเปรียญ 5 ห้อง ตั้งอยู่มุมวัดด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)ด้านข้างศาลาการเปรียญด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มีพระเจดีย์ประดับหินอ่อน สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นพระยาราชวรานุกูล เมื่อปี พ.ศ.2407 โดยนำอัฐิของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ผู้เป็นบิดา มาบรรจุไว้
พระอุโบสถ สร้างขึ้นตรงบริเวณบ้านเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง 20.88 เมตร ยาว 30.90 เมตร ลักษณะสถาปัตยกรรมจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับ หน้าบันปั้นลายดอกไม้ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ประดับกระจก
ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ และภาพเครื่องบูชา เป็นโต๊ะลดหลั่นกันแบบจีน เสาเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ หันหน้าไปทางเหนือ
กล่าวกันว่า “พระโต” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ตามคำเล่าขานของชาวบ้านว่าได้เห็นอภินิหารของ “พระโต” หลายอย่างดังเช่นเมื่อครั้งทำพิธียกช่อฟ้า “พระวิหารหลวง” อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระโต” ผู้คนทั้งหลายได้เห็นนิมิตดีอันหนึ่ง ปรากฏเป็นสายยาวมีรัศมีพวยพุ่งจากท้องฟ้า ตกลงมาจรดช่อฟ้าสว่างไสวไปทั่วอาณาบริเวณวัด เป็นที่อัศจรรย์แก่สายตาพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมในงานพิธียกช่อฟ้าพระวิหารหลวงยิ่งนัก ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึง “พระโต” เมื่อครั้งทำการปราบปรามอั้งยี่ในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่า“ส่วนการควบคุมพวกอั้งยี่นั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ “เลี้ยงอั้งยี่” ที่ในแหลมมลายูใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าแก่ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ได้ 14 คน แล้วตั้งข้าหลวง 3 คน คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นพระยาเทพประชุน (ซึ่งเคยไปปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต) คนหนึ่ง พระยาโชฏึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตะเวณ (โปลิศ) ในกรุงเทพฯ คนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางจีนเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ 14 คนนั้นไปทำพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารพระโต ณ วัดกัลยาณมิตร ซึ่งคนจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง 14 คน”
เป็นธรรมเนียมของคนจีนที่มักนิยมเข้าไปกราบมนัสการพระพุทธรูปใหญ่ตามวัดต่างๆ เช่น วัดพนัญเชิง วรวิหาร และวัดมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น วัดกัลยาณมิตรก็เช่นเดียวกัน “พระโต” ชาวจีนเรียกกันว่า “ซำปอกง” หรือ “ซำปอฮุดกง” นิยมไปเสี่ยงทาย ดังเช่น การเสี่ยงเซียมซี เป็นต้น ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ มีงิ้ว และงานทิ้งกระจาด เป็นประจำทุกปีในวันสิ้นเดือน 9
ชื่อ “ซำปอกง” นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับ “เจิ้งเหอ” แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์ เจิ้งเหอได้ชื่อว่าเป็นนักเดินเรือผู้เกรียงไกรที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศจีนและของโลก ผู้ใช้ชีวิตอยู่บนผืนมหาสมุทรและดินแดนต่างถิ่นเป็นระยะเวลาถึง 22 ปี
เจิ้งเหอ (Zheng He หรือ Cheng Ho) เกิดเมื่อปี พ.ศ.1914 ที่ตำบลคุนหยาง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีชื่อเดิมว่า “หม่าเหอ” พื้นเพครอบครัวเป็นชาวมุสลิม มีปู่และบิดาเป็นผู้นำฮัจญ์ของเมืองคุนหมิงและคุนหยาง ครั้นอายุได้ 10 ปี เมื่อกองทัพแห่งราชวงศ์หมิงยกทัพมากวาดล้างกองทัพมองโกลที่ยังปกครองมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศ ได้กวาดต้อน “หม่าเหอ” เป็นเชลย โดยในปี พ.ศ.1926 หม่าเหอถูกจับตอนเป็นขันที และได้เข้าไปรับใช้ในราชสำนักของเจ้าชายจู้ตี้ พระราชโอรสองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิหงหวู่
ในบันทึกของครอบครัวได้กล่าวถึง “หม่าเหอ” ไว้ว่า “หม่าเหอมีความสูงถึงเจ็ดฟุต (หนึ่งฟุต (ฉื่อ) ของจีน มีขนาดความยาวเท่ากับ 10.5-11 นิ้วฟุตของอังกฤษ) มีเส้นรอบเอวถึง 5 ฟุต มีแก้มและหน้าผากสูง แต่มีจมูกค่อนข้างเล็ก มีดวงตาที่เปล่งประกาย มีฟันที่ขาวสะอาด มีเสียงที่ดังกังวานดุจระฆังใบใหญ่ มีความรอบรู้ในเรื่องงานการศึกสงคราม เพราะเขาได้อยู่ใกล้ชายแดนที่เมืองเป่ยผิงกับองค์เจ้าชาย”
ในปี พ.ศ.1946 หม่าเหอได้รับพระบรมราชโองการจากจักรพรรดิหย่งเล่อ (เจ้าชายจู้ตี๋) ให้ควบคุมการก่อสร้างกองเรือมหาสมบัติ หรือ “เป่าฉวน” และในปีเดียวกันนั้น หม่าเหอได้เข้าเป็นพุทธมามกะ โดยรับศีลจากพระเต้าเอี่ยน พระภิกษุผู้ลือนามในสมัยนั้นในปี พ.ศ.1947 “หม่าเหอ” ได้รับพระราชทานแซ่ “เจิ้ง” และเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าขันที “เน่ยกวนเจี้ยน”การออกเดินเรือของกองเรือสมุทรยาตราของเจิ้งเหอ ทั้งหมดถึง 7 ครั้ง อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.1948 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชสมัยจักรพรรรดิหย่งเล่อ ถึงปีที่ 8 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิซวนเต๋อ ครั้งถึงปี พ.ศ.1976 ได้การออกเดินเรือไปเยือนประเทศต่างๆ ถึง 30 กว่าประเทศ ในดินแดนอุษาคเนย์ ชมพูทวีป อาหรับ คาบสมุทรอาระเบีย และแอฟริกา เป็นระยะทางเดินเรือกว่า 50,000 กิโลเมตร
ในบันทึกของ “หมิงสื่อลู่” บันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิง ระบุว่ากองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในการออกสมุทรยาตราครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.1951-1952 อันเป็นปีที่สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทั้งนี้ สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ 1 หรือพระนครอินทร์แห่งรัฐสุพรรณภูมิ ก่อนขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงคุ้นเคยกับราชสำนักจีนด้วยเคยเสด็จไปเป็นทูตถวายเครื่องราชบรรณาการยังราชสำนักจีนด้วยพระองค์เองถึง 3 ครั้ง
นอกจากนั้น “หมิงสื่อลู่” ยังได้บันทึกอีกว่า เจิ้งเหอได้เดินเรือเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาอีก 2 ครั้ง คือ ในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 7 ความเกี่ยวพันของ “เจิ้งเหอ” ที่กลายมาเป็นเทพเจ้า และหลวงพ่อโต “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นไปได้ว่าเมื่อกองเรือเจิ้งเหอได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา กองเรือส่วนหนึ่งอาจจะจอดเรือเทียบท่าอยู่บริเวณใกล้วัดพนัญเชิง ที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า ได้สร้างขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี (พ.ศ.1867) และเป็นย่านการค้าขายนานาชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้
หนังสือ “600 ปี สมุทรยาตรา เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์” สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ขึ้น ได้กล่าวไว้ว่า “จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าเจิ้งเหอจะได้มาสักการะหลวงพ่อองค์นี้ ทำให้ชาวจีนที่เลื่อมใสศรัทธาในตำนานวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอ และมีจำนวนไม่น้อยที่เชื่อกันมาว่าตนเองเป็นลูกหลานของซำปอกง เพราะมีบรรพบุรุษซึ่งติดตามกองเรือของเจิ้งเหอมาได้ขอพำนักอาศัยอยู่ในดินแดนที่ตนไปเยือน จึงเรียกชื่อหลวงพ่อโตองค์นี้ตามชื่อของท่านว่า “หลวงพ่อซำปอกง” เพื่อเป็นตัวแทนของเจิ้งเหอก็เป็นได้”คำว่า “ซำปอกง” หรือ “ซานเป่ากง” สันนิษฐานว่า อาจเป็นชื่อรองที่บิดามารดาได้ตั้งไว้ให้แก่เด็กชายหม่าเหอว่า “ซ่านเป่า” ซึ่งแปลว่า บุตรคนที่ 3 ผู้มีค่าดุจรัตนะหรือดวงแก้วแห่งบุพการีหรืออาจเป็นฉายาของเจิ้งเหอ เมื่อได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธแล้ว ด้วย “ซานเป่า” ยังหมายถึง “ไตรรัตน์” หรือ “ดวงแก้วทั้งสาม” อันหมายถึงพระรัตนตรัย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนาม “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” ณ วัดพนัญเชิง วรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา และวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”
กล่าวสำหรับ วัตถุมงคล “พระพุทธไตรรัตนนายก” วัดกัลยาณมิตร เป็นอีกเหรียญ “พระพุทธรูปล้ำค่า” ที่ได้รับความนิยมของนักสะสมพระเครื่อง ซึ่งมีการสร้างหลายครั้งหลายครา เป็นรูปองค์พระพุทธปฏิมากร “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “ซำปอกง” หรือ “ซำปอฮุดกง”อย่างเหรียญแรกที่นำมา เป็นเหรียญปั๊มรูปองค์พระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งปางมารวิชัย บนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วที่แกะลวดลายเป็นรูปพญานาค ด้านบนเป็นรูปดวงแก้วเปล่งรัศมี และภาษาจีน 4 ตัว ว่า “ซำปอฮุดกง” ข้างเหรียญแกะลายกระหนกอย่างงดงาม ในส่วนของด้านหลังเรียบ มีรอบบุ๋มเป็นรูปองค์พระ เหรียญรุ่นนี้ไม่ระบุปีที่สร้าง หากดูรูปแบบแล้วน่าจะสร้างใกล้เคียงกับการสร้างเหรียญพระพุทธรูป วัดไชโย วรวิหาร จ.อ่างทอง ส่วนเหรียญที่ระบุปีสร้างอย่างชัดเจน คือ ปี พ.ศ. 2468 ซึ่งมี 2 แบบ คือเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายก แบบที่ 1 ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งบนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น ภายในซุ้มประภามณฑลแบบซุ้มพระพุทธชินราช ด้านบนเป็นรูปดวงแก้วเปล่ง ใต้อาสนะฐานบัวมีตัวเลขระบุปีสร้าง พ.ศ.2468
ส่วนของด้านหลัง พื้นเหรียญเรียบ มีอักขระขอม และอักษรไทยว่า “ฦๅ ฦๅ” ด้านบนเหรียญเป็นอักษรจีนว่า “ซำปอฮุดกง” ล่างสุดเป็นอักษรไทยว่า “หลวงพ่อกัลยา”
เหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายก แบบที่ 2 ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งบนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น ภายในซุ้มประภามณฑลแบบซุ้มพระพุทธชินราช ด้านบนเป็นรูปดวงแก้วเปล่ง ด้านข้างดวงแก้ว และบริเวณพระชานุทั้งสองข้างมีอักษรจีนอีก 4 ตัว ว่า “ซำปอฮุดกง” ด้านบนใต้หูเหรียญระบุว่า “หลวงพ่อกัลยา”
ส่วนของด้านหลัง พื้นเหรียญเรียบ มีอักขระขอม และภาษาไทยว่า “ฦๅ ฦๅ”
ทั้งสองแบบ เป็นเหรียญปั๊มขนาดสูงประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ได้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ปิดทององค์พระและฐานพระพุทธไตรรัตนนายก หลังปฏิสังขรณ์แล้วได้จัดงานสมโภช ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม พ.ศ.2469 ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุทองอุณาโลมที่พระพักตร์พระพุทธไตรรัตนนายก และทรงปิดทอง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2469
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2473 ก็ได้มีการสร้างเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายกขึ้นอีก เป็นเหรียญปั๊มรูปลักษณะแบบเดียวกับเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายก แบบที่ 2 ปี (พ.ศ.2468) แต่ในส่วนของด้านหลังเหรียญนั้น ตรงกลางเป็นรูประฆัง ใต้ระฆังเป็นเลขปี พ.ศ.2473 อันเป็นปีทำเหรียญนี้ ด้านบนใต้หูเหรียญเป็นอักขระขอมกล่าวถึงระฆังแล้วนั้น ดูเหมือนจะมีความผูกพันอยู่กับพระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ในสมัยที่พระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัด คืนหนึ่งท่านเจ้าคุณสุนทรฯ ได้ฝันว่า มีผู้เฒ่านุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งพูดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างท่านก็ยกขึ้นหมดแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง ทำไมท่านจึงไม่ยกขึ้นเล่า พูดเท่านั้นผู้เฒ่าผู้นั้นก็หายไปต่อมา ท่านเจ้าคุณสุนทรฯ ได้เล่าความฝันนี้ให้ ท่านพระครูสุนทรกาษฐโกศล (ทับ) ฟัง และถามว่า ยังจะมีสิ่งใดอีกบ้างที่ท่านยังไม่ได้ยกขึ้น ท่านพระครูสุนทรกาษฐโกศล (ทับ) ตอบว่า สิ่งอื่นก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากระฆังเก่าใบหนึ่งซึ่งเก็บรักษาไว้ในวิหารเล็กนานตั้ง 40 ปีมาแล้ว เห็นควรสร้างหอขึ้นใหม่ ท่านเจ้าคุณสุนทรฯ ก็เห็นชอบด้วย จึงมอบหมายให้ท่านพระครูสุนทรกาษฐโกศล (ทับ) เป็นผู้ออกแบบแปลนและคุมงานก่อสร้าง พอสร้างเสร็จก็นำระฆังเก่าโบราณนั้นมาแขวนไว้ที่หอนี้
ต่อมาในปี พ.ศ.2473 พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ได้ดำเนินการสร้างระฆังใบใหญ่ขึ้น ความสูงแต่ปากระฆังถึงบัว 2.46 เมตร แต่ตัวนาคถึงยอด 1.37 เมตร ความสูงแต่ปากระฆังถึงยอดสุด 3.83 เมตร ปากระฆังกว้าง 1.93 เมตร ได้ให้ช่างไทยหล่อหนึ่งครั้งไม่สำเร็จ จึงให้ช่างญี่ปุ่นชื่อนายฟูจิวารา ก่อนหล่อได้อธิษฐานขอพรพระพุทธไตรรัตนนายก “ซำปอกง” แล้วจึงทำการหล่อ แต่ต้องหล่อถึง 3 ครั้งจึงสำเร็จ
ในการหล่อระฆังครั้งนี้ ได้ทำการสร้างเหรียญปั๊มพระพุทธไตรรัตนนายกขึ้นเป็นที่ระลึกขึ้นด้วย เป็นเหรียญปั๊มมีขนาดความกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 2.2 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระพุทธปฏิมากรพระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งปางมารวิชัยบนอาสนะฐานบัว 2 ชั้น เบื้องบนเป็นดวงแก้วเปล่งรัศมี ด้านข้างมีอักษรจีน 2 ตัว และที่บริเวณพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้างอีก 2 ตัว อ่านได้ว่า “ซำปอกง” ใต้หูเหรียญเป็นอักษรไทยว่า “หลวงพ่อกัลยา” ส่วนด้านหลังตรงกลางเป็นรูประฆัง และใต้ระฆังเป็นตัวเลขปี พ.ศ.2473 ที่สร้างเหรียญ ด้านบนใต้หูเหรียญเป็นอักขระขอมสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่งของพระพุทธไตรรัตนนายก คือ ฮู้ (ยันต์) ที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างยิ่ง ในการนำมาติดไว้ที่หน้าประตูบ้าน หรือพกติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตทั้งนี้ หากกล่าวถึง “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” หรือ “ซำปอกง” องค์ใหญ่ที่เด่นๆ จะมีเพียง 3 วัดในประเทศไทย คือ ประดิษฐาน ณ วัดพนัญเชิง วรวิหาร ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดอุภัยภาติการาม ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ณ วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร นั่นเอง
รอติดตามชมตอนต่อไปได้นะจ๊ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก wikipedia.org และ dhammajak.net
เขียนและเรียบเรียงโดย : น้องบารมี
Leave a Reply