น้องบารมีพาเที่ยวกลับมาหากันอีกครั้งแล้ว….
วันนี้ได้ฤกษ์มาเล่าให้ฟังต่อจากทิปที่แล้วว่าไป ตล่อนๆ ที่ไหนมาอีก…อิอิ จริงๆ แล้วเป็นทิปต่อเนื่องจากครั้งที่แล้วที่ไปวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ขากลับเลยแวะมาที่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี วัดนี้ได้ตั้งอยู่ที่ อำเภอพระพทุธบาทเลย ถ้าให้พูดถึงการเดินทางจริงๆ แล้วเดินทางมาไม่ยากเลย
ถ้าขับรถกันมาเอง ก็ง่ายมาก โดย จากห้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ใช้ถนนพหลโยธิน ( ทางหลวงหมายเลข 1 ) มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี ประมาณ 75 กิโลเมตร จะถึงตัวเมืองสระบุรี จากนั้นขับตรงไปมุ่งหน้าสู่จังหวัดลพบุรี ประมาณ 28.9 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้าย แล้วขับตรงไป ประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึง วัดพระพุทธบาท ฯ หรือ จะนั่งรถทัวร์จากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็ได้เหมือนกัน โดยจะเป็นนั่งรถปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ลพบุรี แล้วไปลงที่อำเภอพระพุทธบาท จากนั้นต่อรถสองแถวเข้าวัดพระพุทธบาท ฯ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 45 นาทีเห็นจะได้
ความเป็นมาของวัดพระพุทธบาท ฯ ดังต่อไปนี้ (ขอวิชาการบ้างนะ ^_^)
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่า มีพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปยังลังกาทวีป ด้วยหวังจะสักการบูชาพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ การไปคราวนั้นเป็นเวลาที่พระสงฆ์ชาวลังกาทวีปกำลังสอบประวัติ และที่ตั้งแห่งรอยพระพุทธบาททั้งปวงตามที่ปรากฏอยู่ในตำนานว่ามีเพียง ๕ แห่ง ภายหลังสืบ ได้ความว่าภูเขาที่ชื่อว่า สุวรรณบรรพตมีอยู่ในสยามประเทศ ครั้นเมื่อได้พบกับพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยในคราวนั้น ต่างพากันสอบถามว่ารอยพระพุทธบาท ที่มีอยู่ ๕ แห่ง ในสถานที่ต่างๆ กันนั้น
ปรากฏว่ามีที่เขาสุวรรณบรรพตแห่ง ๑ ก็ภูเขาลูกนี้อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่พยายามสืบไปนมัสการ กลับพากันไปลังกาทวีป เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไทยคณะนั้นได้รับคำบอกเล่า เมื่อกลับมาสู่ประเทศไทย จึงนำความขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราสั่งบรรดาหัวเมืองทั้งปวง ให้เที่ยวตรวจตราค้นดูตามภูเขาต่างๆ ว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด ครั้งนั้น เจ้าเมืองสระบุรี สืบได้ความจากนายพรานบุญว่า ครั้งหนึ่งออกไปล่าเนื้อในป่าใกล้เชิงเขา ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งเจ็บลำบากหนีขึ้นไปบนไหล่เขา ซุกเข้าเชิงไม้หายไป พอบัดเดี๋ยวก็เห็นเนื้อตัวนั้น วิ่งออกจากเชิงไม้เป็นปกติอย่างเก่า นายพรานบุญนึกประหลาดใจ จึงตามขึ้นไปดูสถานที่บนไหล่เขาที่เนื้อหนีขึ้นไป
ก็พบรอยปรากฏอยู่ในศิลา มีลักษณะเหมือนรูป รอยเท้าคน ขนาดยาวประมาณสักศอกเศษ และ ในรอยนั้นมีน้ำขังอยู่ด้วย นายพรานบุญเข้าใจ ว่าบาดแผลของเนื้อตัวที่ถูกตนยิง คงหายเพราะดื่มน้ำในรอยนั้น จึงวักน้ำลองเอามาทาตัวดู บรรดาโรคผิวหนังคือ กลากเกลื้อน ซึ่งเป็นเรื้อรังมาช้านานแล้ว ก็หายหมดสิ้นไป เจ้าเมืองสระบุรี จึงสอบสวนความจริงดู ก็ตรวจค้นพบรอยนั้น สมดังคำบอกเล่าของนายพรานบุญ จึงมีใบบอกแจ้งเรื่องเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไป ณ ที่เขานั้น ทอดพระเนตรเห็นรอยนั้นแล้ว จึงทรงพระราชวิจารณ์ตระหนักแน่นพระราชหฤทัยว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท เพราะมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐุตตรสตมหามงคลร้อยแปดประการ ตรงกับเรื่องทีชาวลังกาทวีปแจ้งเข้ามาด้วย เกิดพระราชศรัทธาปราโมทย์โสมนัสเป็นกำลัง โดยทรงพระราชดำริเห็นว่ารอยพระพุทธบาทย่อมจัดเป็นบริโภคเจดีย์แท้ เพราะเป็นพุทธบทวลัญช์อันเนื่องมาแต่พระพุทธองค์ ย่อมประเสริฐยิ่งกว่าอุเทสิกเจดีย์ เช่น พระสถูปเจดีย์ สมควรจะยกย่องบูชาเป็นพระมหาเจดียสถาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤหหลังน้อย สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนแล้ว
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังราชธานี จึงทรงสถาปนายกที่พระพุทธบาทขึ้นเป็นเจดียสถานเป็นการสำคัญ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปยอดเดี่ยวสวมรอยพระพุทธบาทกำหนดเป็นพุทธเจดีย์ และสร้างอารามวัตถุอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ให้เป็นที่สำหรับพระภิกษุอยู่แรม เพื่อทำการบริบาลพระพุทธบาท ทรงพระราชศรัทธาอุทิศเนื้อที่โยชน์หนึ่ง โดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธเกษตรต่างพุทธบูชา บรรดากัลปนาผล ซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงจากเนื้อที่นั้นให้ใช้จ่ายเป็นค่าบำรุงรักษาพระมหาเจดียสถานที่พระพุทธบาท ทรงยกที่พุทธเกษตรส่วนนี้ให้เป็นเมืองชั้นจัตวา ชื่อเมืองปรันตปะ แต่นามสามัญเรียกกันว่า เมืองพระพุทธบาท ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้ชายฉกรรจ์ทุกคนที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่พระพุทธบาทพ้นจากหน้าที่ราชการอย่างอื่นสิ้น
ตั้งให้เป็นพวกขุนโขลนเป็นข้าปฏิบัติบูชารักษาพระพุทธบาทแต่หน้าที่เดียว พระราชทานราชทินนามบรรดาศักดิ์ประจำตำแหน่งผู้รักษาการพระพุทธบาท หัวหน้าเป็นที่ขุนสัจจพันธ์คีรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสี นพคูหาพนมโขลน รองลงมาเป็นที่หมื่นสุวรรณปราสาท หมื่นแผ้วอากาศ หมื่นชินธาตุ หมื่นศรีสัปบุรุษ ทั้ง ๔ คนนี้ เป็นผู้รักษาเฉพาะองค์พระมณฑป ตั้งนายทวารบาล ๔ นาย เป็นที่หมื่นราชบำนาญทมุนิน หมื่นอินทรรักษา หมื่นบูชาเจดีย์ หมื่นศรีพุทธบาล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคลังสำหรับเก็บวัตถุสิ่งของที่มีผู้นำมาถวายเป็นพุทธบูชา ให้ผู้รักษาคลังเป็นที่ขุนอินทรพิทักษ์ ขุนพรหมรักษา หมื่นพิทักษ์สมบัติ หมื่นพิทักษ์รักษา ให้มีผู้ประโคมยามประจำทั้งกลางวันกลางคืนเป็นพุทธบูชา ตั้งเป็นที่หมื่นสนั่นไพเราะ หมื่นเสนาะเวหา พันเสนาะ รองเสนาะ ทรงกำหนดเทศกาลสำหรับให้มหาชนขึ้นไปบูชารอยพระพุทธบาทเดือน ๓ ครั้ง ๑ และเดือน ๔ ครั้ง ๑ เป็นประเพณีตั้งแต่นั้นมา
แต่พอวันนั้นไปจริงๆ แล้ว โอเค มาก คนไม่เยอะเท่าไรอากาศไม่ร้อนกำลังดี ไปชมภาพกันได้ว่าเป็นยังไง และที่สำคัญ ไปถึงหน้าประตูเดินผ่านเข้าไปด้านใน จะมีพระค่อยนั่งปะพรมน้ำมนต์ให้ และมีจุดให้ทำบุญซื้อกระเบื้อง แต่ตู้รับบริจาคอยู่ตรงทางขึ้นบันไดไป และที่วัดมีจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน ทอง พร้อมเราเพียงแค่มีปัจจัยไปก็พอและที่สำคัญต้องมีความศรัทธาด้วย เพราะว่าเดินขึ้นบันไดก็สูงอยู่เหมือนกัน ด้วยความฮึดอยากขึ้นไปไหว้และชมรอยพระพุทธบาท เลยสู้ตาย งานนี้ 555+
ขึ้นไป ตรงกลางทางจะมีศาลเจ้าเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย อยู่ด้วยให้ชาวไทย เชื้อสายจีนได้เข้าไปกราบไหว้ขอพร
และพอถึงด้านบนก็จะมีรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าให้กราบไหว้
นอกจากนี้ยังมี องค์อมรินทร์ เทพผู้ประทานพร ให้กราบไหว้ ขอพรด้วย ขั้นแรกพอไปถึงก็จุดธูปไหว้พระ แต่แผ่นทองให้นำไปแปะที่รอยพระพุทธบาท ด้านใน พอเข้าไปแล้วจะเห็นได้ว่าเสื่อที่ปูพื้นอยู่นั้นเป็นเสื่อที่ทอจากเงิน ภายในได้มีการตกแต่งอย่างงดงาม พอเราได้แปะแผ่นทองแล้วก็ได้
เดินออกมากราบไหว้ องค์อมรินทร์ เทพผู้ประทานพร ที่อยู่ด้านหน้าได้อีกด้วยและจะมีเจ้าหน้าที่ของวัดมาค่อยแนะนำวิธีการขอพรซึ่งถ้าต้องการขอเรื่องงาน เงิน ครอบครัว อุปสรรคให้หมดไป ต้องจับ ตรงไหน ทำยังไงเพื่อให้สำเร็จ อันนี้ทำให้น้องบารมีประทับใจสุดๆๆๆ ^__^
หลังจากกราบพระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิต่างๆ เรียบร้อยแล้วก็เดินทางลงมาด้านล่างแวะช๊อปปิ้งตลาดฝั่งตรงข้ามวัดกันต่อ ชีวิตของพวกเราทีมงานชาวHoroguideและน้องบารมีลั้ลล้ากันสุดๆ และค่อยติดตามชมครั้งหน้าจะพาไปชิม ของอร่อยๆ ไม่แพงแถวๆ วัดพระพทุธบาทฯ กันต่อ เพราะว่าพอเขียนครั้งนี้มันมายาวเกินไป เพื่อนๆ พี่ๆ คงอ่านกันจนปวดตาแล้วใช่ป่าว ^_^ ครั้งหน้ารับรองพากินแน่ๆ อิอิ
ข้อมูลบ้างส่วนอ้างอิงมาจาก http://th.wikipedia.org/
พุห์
น่าไปเที่ยวมากครับบบบบบบ