พระธาตุประจำปีมะเมีย
พระธาตุชเวดากอง
สามารถเดินทางไปนมัสการพระบรมธาตุเมืองตากแทนพระธาตุชเวดากองที่ประเทศพม่า ได้ เนื่องจากเป็นพระเจดีย์ที่พระครูพิทักษ์ (ทองอยู่) ได้จำลองแบบมาจากพระธาตุชเวดากองโดยครอบพระธาตุเจดีย์องค์เดิมไว้
ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดนี้ ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเมืองตากจนมาถึงดอยมหิยังคะที่ร่มรื่น และทรงมอบพระเกศาให้พระอรหันต์ พร้อมทั้งรับสั่งว่าหลังจากที่เสด็จปรินิพพานแล้วให้นำพระเกศาธาตุมาบรรจุ ไว้ที่นี่ พระบรมธาตุเจดีย์เมืองตากจึงเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ
ในวันขึ้น ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี จะมีงานพิธีสมโภชและสักการะพระบรมธาตุ เรียกว่า งานประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า
พระธาตุประจำปีมะแม
พระธาตุดอยสุเทพ
พระธาตุดอยสุเทพตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ การประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์บนเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมีขึ้นราวปี พ.ศ. ๑๙๑๖ สมัยพญากือนา (พ.ศ.๑๘๙๘-๑๙๒๘) ในยุคทองของล้านนา พระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระจึงอันเชิญพระบรมธาตุที่พบเมืองปางจามาด้วย
พระบรมธาตุนี้ได้ทำปาฏิหาริย์แยกเป็นสององค์ องค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดบุปผารามอีกองค์หนึ่งพญากือนาได้อาราธนาสถิตเหนือ ช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายที่ประดิษฐาน ช้างมงคลเดินขึ้นมาถึงยอดดอยสุเทพ แล้วร้องสามครั้ง ทำทักษิณาวรรตสามรอบ และล้ม (ตาย) ลง ภายหลังอัญเชิญพระบรมธาตุลงมา พญากือนาให้ขุดหลุมประดิษฐานพระบรมธาตุและก่อพระเจดีย์สูง ๕ วา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๐๘๑ สมัยพระเมืองเกษเกล้า ได้ก่อเป็นพระเจดีย์สูงใหญ่สีทองเช่นทุกวันนี้
มีความเชื่อว่าหากบูชาพระธาตุในทิศทั้งสี่แล้วจะทำให้มีสติปัญญาดี สมัยก่อนในวันวิสาขบูชามีประเพณีการขึ้นพระธาตุ โดยชาวบ้านจะเดินลัดเลาะป่าขึ้นสู่องค์พระธาตุ
พระธาตุประจำปีวอก
พระธาตุพนม
พระธาตุพนม พระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนสองฝั่งโขง บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า
ตามตำนานว่าก่อสร้างโดยกษัตริย์ห้าองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัต พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้นตำนานเล่าว่าตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะสมัยทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน
พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห้งล้านช้าง ในสมัย พ.ศ. ๒๒๒๓-๒๒๒๕ พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทร์ ๓,๐๐๐ คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมาทางรัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เกิดฝนตกหนักและพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐและเอกชนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒
ในเขตวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้น้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
งานนมัสการพระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓
พระธาตุประจำปีระกา
พระธาตุหริภุญชัย
พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุคู่เมืองลำพูนมาแต่โบราณ มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังชัยภูมิของชาวเม็ง ทรงหยุดประทับนั่ง ณ สถานที่หนึ่ง พระญาชมพูนาคราชและพระญากาเผือกได้มาอุปัฏฐาก และมีชาวลัวะผู้หนึ่งนำลูกสมอมาถวายพระองค์ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่าที่นี่ในอนาคตจะเป็น “นครหริภุญชัยบุรี” เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุวรรณเจดีย์” ซึ่งบรรจุธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูก ธาตุกระดูกนิ้วมือและธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง
ในครั้งนั้นพระญาทั้งสองได้ทูลขอพระเกศาธาตุ นำไปบรรจุในกระบอกไม้รวกและโกศแก้วใหญ่ ไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับ ต่อมาในสมัยพระญาอาทิตยราช ผู้ครองเมืองหริภุญชัย (ราว พ.ศ. ๑๔๒๐) ได้เสด็จลงห้องพระบังคน แต่มีกาขัดขวางมิให้เข้า ภายหลังทรงทราบว่าที่แห่งนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงทรงให้รื้อวังและขุดพระบรมธาตุมาบรรจุโกศทองคำ และสร้างมณฑปปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุหริภุญชัยได้รับการบูรณะเรื่อยมา โดยพระเจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว
ภายในวัดยังมี พระสุวรรณเจดีย์ เจดีย์ยุคแรกในศิลปะหริภุญชัย เจดีย์เชียงยัน เจดีย์เก่าแก่ทรงปราสาทห้ายอด และหอระฆัง ที่แขวนกังสดาลใหญ่ เป็นต้น
ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย น้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนี้จะต้องนำมาจากบ่อน้ำทิพย์บนยอดดอยขะม้อที่อยู่ นอกเมือง ตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ
พระธาตุประจำปีจอ
พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส
สำหรับผู้ที่เกิดปีจอพระธาตุประจำปีเกิดคือพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่าประดิษฐานพระทันตธาตุที่พระอินทร์นำมาจากพระ บรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าให้เจ้าเมืองต่าง ๆ
ด้วยเหตุที่พระธาตุเจดีย์องค์นี้มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ดังนั้นนอกจากนมัสการด้วยการบูชารูปแล้ว ยังสามารถบูชาพระเจดีย์ที่วัดเกตการาม เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์
วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเขตย่านการค้าของชาวต่างชาติ ตามประวัติว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ.๑๙๗๑ แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ. ๒๑๒๑ พระสุทโธรับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม (เปิด ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.)
พระธาตุประจำปีกุน
พระธาตุดอยตุง
พระบรมธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บนดอยสูงซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้
ก่อนที่จะสร้างพระเจ้าอชุตราชให้ทำทุง (ตุง) มีความยาว ๑,๐๐๐ วาปักบนยอดเขาหากทุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังรายพระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย ๕๐ องค์ พญามังรายจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม
บางตำนานว่าที่มาชื่อดอยตุงเนื่องจากพระมหากัสสปะได้อธิษฐานตุงยาว ๗,๐๐๐ วาไว้ที่ยอดดอยแห่งนี้ พระบรมธาตุดอยตุงได้รับการบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาททององค์ปัจจุบัน
พระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ไทใหญ่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน ๓
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.changnoi-holiday.com